พะยอม ( Shorea, White meranti )
ลักษณะของต้นพะยอม
ต้นพะยอม (ต้นพยอม)
มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและเอเชีย เช่น ประเทศพม่า ลาว ศรีลังกา และฟิลิปปินส์ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ มีความสูงประมาณ 15-20 เมตร เปลือกต้นมีสีน้ำตาลหรือสีเทาเข้ม ผิวเปลือกแตกเป็นร่องตามยาวและเป็นสะเก็ดหนา ส่วนเนื้อไม้ มีสีเหลืองถึงสีน้ำตาล
ลักษณะของต้นเป็นทรงพุ่มกลมสวยงามมาก แตกกิ่งก้านสาขาจำนวนมาก ซึ่งในปัจจุบันพันธุ์ไม้ชนิดนี้กำลังเริ่มลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ จะพบเห็นได้ตามป่าเบญจพรรณแล้งและชื้น หรือป่าดิบแล้งทั่วไป
ใบพะยอม
ลักษณะของใบเป็นรูปมนรี ผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน โคนใบสอบมน มีปลายใบแหลม ขอบเรียบเป็นคลื่น หลังใบจะมองเห็นเส้นใบได้ชัดเจน ยาวประมาณ 12-18 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 6-8 เซนติเมตร
ดอกพะยอม (ดอกพยอม)
ออกดอกเป็นช่อใหญ่ ดอกมีสีเหลืองอ่อนและมีกลิ่นหอม กลีบดอกเรียบโค้งเล็กน้อย ดอกมีกลีบ 3 กลีบ โคนกลีบดอกติดกับก้านดอก มีลักษณะกลม และดอกจะออกพร้อมกันเกือบทั้งต้น ในช่วงเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์
ผลพะยอม
ผลแห้ง มีปีกแบบ Samara ลักษณะเป็นทรงไข่และกระสวย ซ่อนตัวอยู่ในกระพุ้ง ในผลมีเมล็ดหนึ่งเมล็ด จะออกผลในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม
ความเชื่อและความเป็นมงคล
คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดที่ปลูกต้นพะยอมไว้ประจำบ้าน จะช่วยให้คนในบ้าน มีนิสัยที่อ่อนน้อม มาจากคำว่า พะยอม มีความหมายว่า การยินยอม ตกลง ผ่อนผัน หรือประนีประนอมนั่นเอง และยังเชื่อกันอีกว่า จะช่วยทำให้ไม่ขัดสนในเรื่องต่าง ๆ และรวมไปถึงเรื่องเงินทอง เพราะจะทำให้ผู้คนต่างให้ความเห็นใจนั่นเอง ซึ่งการปลูกเพื่อเสริมสิริมงคล ควรปลูกไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือและควรปลูกในวันเสาร์
การขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์โดยการผลิตกล้าจากเมล็ด เนื่องจากสามารถผลิตกล้าได้เป็นจำนวนมากในเวลาอันสั้น หรือขยายพันธุ์ด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การปักชำเหง้า ตอนกิ่ง และเลี้ยงเนื้อเยื่อจากส่วนตายอดและแขนง
การปลูก
- การคัดเลือกพื้นที่ : พะยอมชอบขึ้นในภูมิอากาศที่ร้อนและมีความชุ่มชื้นค่อนข้างมาก อุณหภูมิเฉลี่ย 12.5-45 องศาเซลเซียส ดินที่เหมาะสมได้แก่ ดินที่สามารถเก็บความชื้นไว้ได้นาน เช่น ดินเหนียว ดินเหนียวปนทราย และปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย ประมาณ 1500-3000 มม./ปี หรือมากกว่านี้
- ระยะปลูกที่ใช้กันคือ ระยะ 3×3 เมตร ในระยะแรก ๆ ที่พะยอมยังเป็นต้นอ่อน ต้องอยู่ภายใต้ร่มเงาของต้นไม้อื่น เช่น เต็ง รัง ฯลฯ การแย่งแสงสว่างจะไม่มีผลต่อพะยอมมากนัก เหมาะสมกับการปลูกร่วมกับพืชตระกูลถั่ว ซึ่งจะช่วยตรึงไนโตรเจน ช่วยให้ไม้พะยอมเจริญเติบโตดีขึ้น
สรรพคุณของพะยอม
- ดอกใช้ทำเป็นยาหอมไว้แก้ลม
- เปลือกต้นใช้กินแทนหมาก ช่วยแก้ลำไส้อักเสบได้
- เปลือกต้นมีสีสาร Tannin มาก ซึ่งสามารถใช้เป็นยาฝาดสมานแผลในลำไส้ได้
- พยอม สรรพคุณของดอกช่วยบำรุงหัวใจ
- สรรพคุณสมุนไพรพยอม ดอกใช้ผสมเป็นยาแก้ไข้